RSS

อำมาตย์ตรี หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์

28 ส.ค.

อำมาตย์ตรี หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์

ชาตะ 1 พฤษภาคม 2428

มรณะ 6 กรกฎาคม 2497

ประวัติส่วนตัวและราชการของหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์

(อาร์.เย.มิลฮอยเซ็น)  R.J. MILHUISEN

หลวง วิเทศวิทยานุศาสตร์ ชื่อเดิมคือ Mr. Reginald James Milhuisen เกิดในปีพุทธศักราช 2428 (ค.ศ.1885) ที่ประเทศศรีลังกา จังหวัดซีลอน เมืองโคลัมโบ (ตะวันตก) สำเร็จการศึกษาจาก ซีเนียร โลแกล เคมบริช (Senior Local Cambridge in Cylon) แห่งซีลอน 

หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ ชื่อเดิมคือ Mr. Reginald James Milhuisen เกิดในปีพุทธศักราช 2428  (ค.ศ.1885) ที่ประเทศศรีลังกา  จังหวัดซีลอน เมืองโคลัมโบ (ตะวันตก) สำเร็จการศึกษาจากซีเนียร โลคัล เคมบริช (Senior Local Cambridge in Cylon) แห่งซีลอน

หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดยเรือเพื่อมาท่องเที่ยวพระนคร หลังจากที่มาอยู่ได้ระยะหนึ่ง จึงได้คิดจะทำงานเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับคนไทย

ภาพถ่ายญาติๆ ของคุณหลวงฯ

ในวันที่ 31 ธันวาคม 2445  ท่านได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) ที่พระนคร  และได้รับยศเป็นรองหุ้มแพรในวันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราชเดียวกัน 

ในวันที่ 31 มีนาคม 2468 โรงเรียนมหาดเล็กหลวงยุบเลิก จึงพ้นหน้าที่อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ

จากการที่ท่านมีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและชวเลข จึงได้เข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง ซึ่งในสมัยนั้น กรมพระกำแพงเพชร (พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) เป็นผู้บัญชาการรถไฟอยู่  คุณหลวงฯ ได้ทำงานในหน้าที่ชวเลขภาษาอังกฤษ ตำแหน่งเลขานุการเนื่องจากสมัยนั้นไม่ค่อยมีผู้ที่รู้จักวิชานี้  อีกทั้งยังสอนภาษาอังกฤษที่บ้านด้วย ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณนรฯ (พระยานรรัตนราชมานิต) ซึ่งสมัยนั้นท่านยังเป็นมหาดเล็กอยู่ในวังหลวงดูแลรับใช้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 อยู่ ก็ได้มาเรียนภาษาอังกฤษกับคุณหลวงฯอยู่เป็นประจำทุกวันในช่วงบ่าย และมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี

วันที่ 1 พฤษภาคม 2469 ในปีเดียวกันนี้ ได้รับพระราชทานยศเป็น “เสวกตรี” และต่อมา ได้โอนมารับราชการในกรมสามัญศึกษากระทรวงธรรมการในวันที่ 1 มิถุนายน 2473  เป็นครูประจำอยู่ในโรงเรียนบ้านสมเด็จ  ได้รับพระราชทานยศเป็น “อำมาตย์ตรี” เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2472

ภาพถ่ายกิจกรรมในลานกว้างของคุณหลวงฯ

วันที่ 15 เมษายน 2484 พ้นจากหน้าที่ครูประจำโรงเรียนบ้านสมเด็จ และได้มาทำหน้าที่อาจารย์โท โรงเรียนนักเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร ในวันเดียวกันนี้ กระทั่งถึงวันที่ 30 เมษายน 2488 จึงพ้นหน้าที่ และได้เข้ามาเป็นครูประจำโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2488

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ

1. เหรียญเครื่องหมายโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพฯ   เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2462

2. เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย  เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2467

3. เหรียญบรมราชาภิเษก  เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468

4. เหรียญเฉลิมพระนครร้อยห้าสิบปี  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2474

5. จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย   เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2480

6. จตุรถาภรณ์ช้างเผือก   เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2484

* สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญทั้งหมดเหล่านี้ ปัจจุบันไม่ได้มีผู้ใดเก็บไว้ เนื่องจากสูญหายไปหมดในช่วงวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ในปีพุทธศักราช 2485

 

หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ เป็นนักวิชาการเต็มตัวและเป็นผู้ที่ทุ่มเทในงานที่ทำอย่างมาก ท่านชอบท่องเที่ยว รักอิสระ  เห็นจากการที่ได้มาเที่ยวเมืองไทยแต่แรก ก็คิดตั้งหลักปักฐานที่ประเทศไทยโดยไม่กลับไปที่ประเทศศรีลังกาอีกเลย จนได้มาพบรักกับนางผาด โหตระภวานนท์ และได้สมรสกันที่พระนคร และมีบุตร-ธิดาด้วยกัน 4 คน ได้แก่

1. นายสมประสงค์ วิเทศวิทยานุศาสตร์ 

2. นางพิศวง สุขสภา 

3. นางพิศวาส ศิริขันธ์ 

4. นางพูนสวาท ฮุค 

ภาพถ่าย หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ ในงานแต่งงานของบุตรี นางพูลสวาท และนายวิลเลี่ยม ฮุค

หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ ได้เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะด้วยโรคความดันโลหิตสูง และเส้นโลหิตฝอยในสมองแตกระหว่างที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยปิดเทอมภาคปลาย  ในเดือนพฤษภาคม 2496 ด้วยน้ำใจอันประเสริฐที่ท่านมุ่งแต่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ตามนิสัยรักการสอนของท่าน  ถึงแม้ว่าจะเจ็บป่วยอยู่ดังกล่าว  ครั้นเมื่อโรงเรียนเปิดเทอม หลวงวิเทศฯได้บากบั่นสอนต่อไปอีก โดยมิได้คำนึงถึงอาการเจ็บป่วยของท่านที่ค่อย ๆ กำเริบขึ้นทุกวัน เนื่องจากไม่ยอมหยุดพัก ซึ่งระยะต่อมาภายหลังนับเป็นเวลาร่วม 1 ปี นับจากท่านได้เริ่มป่วยมา อาการของท่านเข้าถึงขั้นเป็นอัมพาต เดินไม่สะดวก แต่ท่านก็ยังสั่งให้ลูกศิษย์พากันมาเรียนจากท่านที่บ้านพักของวชิราวุธวิทยาลัย จนกระทั่งอาการของโรคหนักถึงขนาดทำให้ท่านไม่สามารถบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ของศิษย์ต่อไปได้  และหลังจากที่ท่านได้ล้มเจ็บหนักอยู่เพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ได้ถึงแก่กรรมด้วยความสงบที่บ้านพักอาจารย์วชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 เวลา  20.45 น. ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งของบุตรและธิดา รวมสิริอายุของท่านในขณะนั้นได้ 69 ปี 2 เดือน 5 วัน

งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ ได้จัดขึ้น ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ในวันที่ 29 สิงหาคม 2497

คำไว้อาลัยจากท่านภะรตราชา

พระยาภะรตราชา หรือ หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา (19 ธันวาคม พ.ศ. 2429 – 28 ธันวาคม พ.ศ. 2518) ผู้บัญชาการ (อธิการบดี) คนที่ 2 แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษ  ปลัดเทศบาลนครกรุงเทพคนแรก เทศมนตรี และสมาชิกวุฒิสภา

 ท่านภะรตราชา ได้เขียนคำนำในหนังสือแจกพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนี้ไว้ว่า

“ร้อย เอก กำธร สุขสภา กับร้อยโท ประทีป ศิริขันธ์ มาแจ้งกับข้าพเจ้าว่า ในการพระราชทานเพลิงศพหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรแล้ว จะพิมพ์ “หนังสือ สุภาษิตสอนเด็ก” แจกแก่ผู้ที่มาในงานนั้น และขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำนำ  ข้าพเจ้าพร้อมที่จะทำให้เพราะได้รู้จักกับหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์มาช้านาน และได้ร่วมงานกันมาเป็นเวลาไม่น้อย  หลวงวิเทศฯ ใช้ชีวิตในการเป็นครูจนถึงวาระสุดท้าย การที่จะพิมพ์อะไรเกี่ยวกับการสอนเด็ก ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะ หากว่ามีญาณวิถีใดที่จะให้ทราบได้ หลวงวิเทศฯ คงจะพอใจ  หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ผู้นี้ มีความรู้ภาษาอังกฤษดีมาก ถึงกับนาย C.A.S Sewell อาจารย์ภาษาอังกฤษผู้หนึ่งในวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อครั้งยังเรียกกันว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้เขียนชมไว้ในคำนำหนังสือประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษ ซึ่งหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์แต่ง ว่าหลวงวิเทศ ฯ มีความรู้ภาษาอังกฤษไม่แพ้คนอังกฤษที่มีการศึกษา และยังกล่าวต่อไปอีกว่า ดีกว่าคนอังกฤษมากคนอีกด้วย  ความข้อนี้ในฐานะซึ่งได้เคยร่วมงานกันมากับหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ ข้าพเจ้าขอสนับสนุน และตอนที่สอนอยู่ ณ วชิราวุธวิทยาลัยในสมัยนี้ หลวงวิเทศ ฯ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนได้ผลดีมาก ในการที่ท่านมาถึงแก่กรรมลงในขณะนี้ ทำให้โรงเรียนขาดอาจารย์ภาษาอังกฤษที่ดีถึงขนาดไปผู้หนึ่ง

ข้าพเจ้าขอจารึกผลของการสอนภาษาอังกฤษของหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ไว้ ณ ที่นี้ และขอแสดงความอาลัย และความเสียดาย ในการที่วชิราวุธวิทยาลัยขาดท่านไปคนหนึ่ง และเชื่อว่าไม่ใช่ของง่ายนัก ที่จะหาอาจารย์ซึ่งมีทั้งความรู้ และความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กไทย ดังที่ท่านได้กระทำมาในวชิราวุธวิทยาลัยนี้”

ภะรตราชา

วชิราวุธวิทยาลัย

6 สิงหาคม 2497

หมายเหตุ ท่านเจ้าคุณภรตราชา เมื่อใดที่ได้คุยกับหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ ท่านมักจะพูดด้วยเป็นภาษาอังกฤษโดยตลอด

คำไว้อาลัยจาก หลวงนรอัฎบัญชา

หลวง นรอัฎบัญชาเป็นทหารเสนารักษ์ชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) สมรสกับนางเครือวัลย์ และมีธิดา 1 คน คือ คุณหญิงพันธ์เครือ ยงใจยุทธ ซึ่งปัจจุบันเป็นภรรยาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  บิดาเรียกเธอว่า “มาเรีย”

หลวงนรอัฎบัญชา ได้เขียนคำไว้อาลัยในหนังสือพิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ไว้ดังนี้

“ความ ทรงจำของข้าพเจ้า – เมื่อ พ.ศ. 2458 ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.8 แห่งโรงเรียนราชวิทยาลัย ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี และเป็นปีแรกที่โรงเรียนเพิ่มการสอนวิชาขึ้นอีกวิชาหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “ศัพท์เลข” แต่เวลานี้เรียกกันว่า “ชวเลข” วิชานี้ยังไม่แพร่หลายในสมัยนั้นเช่นปัจจุบัน  ทางกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนนี้ ได้จัดให้คุณหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ (ขณะนั้นยังไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์) ไปเป็นครูสอน  ข้าพเจ้าเรียนศัพท์เลขอยู่เต็มปี จนสอบไล่ ม. 8  และเฉพาะวิชาศัพท์เลขที่ว่านี้ก็สอบได้ในคั่นดี  พ.ศ. 2459  ออกจากโรงเรียนได้มารับราชการอยู่ในกระทรวงยุติธรรม และเรียนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม จนสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต และรับราชการเป็นผู้พิพากษาตลอดมาจนออกรับพระราชทานบำนาญ แต่ก็หาได้มีโอกาสที่ตจะใช้วิชาศัพท์เลขหรือชวเลขนี้ไม่  เมื่อเป็นเช่นนี้ ความจดจำในวิชานี้จึงเลอะเลือนไป จนไม่สามารถจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ อย่างไรก็ดีถึงแม้ข้าพเจ้าจะจดจำในวิชาที่คุณหลวงวิเทศ ฯ ได้สอนให้ข้าพเจ้าดังกล่าวแล้วไม่ได้  แต่ข้าพเจ้าก็ยังจำได้ว่าคุณหลวงวิเทศฯ ได้เคยเป็นครูสอนให้ข้าพเจ้าเมื่อ 39 ปีมาแล้ว  พระคุณอันนี้ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเลย

บัดนี้ คุณหลวงวิเทศ ฯ ก็ได้ล่วงลับไปแล้ว แต่คุณความดีของท่านยังคงซาบซึ้งอยู่กับใจในบรรดาศิษย์ทั้งหลาย”

หลวงนรอัฎบัญชา

คำไว้อาลัยจาก หลวงศรีราชบุรุษ

หลวงศรีราชบุรุษ นามเดิมว่า แปลง ปุญศรี สมรสกับนางสารี ปุญศรี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์  

หลวงศรีราชบุรุษ ได้เขียนคำไว้อาลัยในหนังสือพิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพหลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้า ได้ทราบด้วยความเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่า หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์ได้ถึงแก่กรรมแล้ว  ในสมัยที่ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลากลาง จังหวัดนนทบุรีเดี๋ยวนี้  ข้าพเจ้าได้รับความรู้ในวิชา Shorthand จากคุณครูซึ่งเป็นผู้สอน  คุณครูเป็นผู้ที่เอาใจใส่ต่อการเล่าเรียนของนักเรียนเป็นอย่างดี  ในเวลาเรียน พวกเรามักจะได้ยินคุณครูพูดว่า “ I don’t want any prompting” อยู่เสมอ 

ในระหว่างที่สอนอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย คุณครูอยู่ที่กรุงเทพฯ ตอนเช้าไปสอน ตอนเย็นก็กลับ  ข้าพเจ้าจำได้ว่าเช้าวันหนึ่งคุณครูมาสาย พวกเราก็เก็งกันว่า คุณครูไม่มาสอนเป็นแน่ โดยปรกติตอนเช้าเมื่อกระดิ่งสั่นเข้าห้องเรียนแล้ว สักประเดี๋ยวก็มีคุณเสงี่ยม นามสกุลอะไรจำไม่ได้ เรามักจะเรียกกันว่า เสมียนเหงี่ยม มาตรวจดูตามห้องเรียนทุกห้อง ถ้าห้องไหนไม่มีครูสอน ก็กลับไปรายงานครูใหญ่ คือ Mr. A. Trice Martin ท่านก็จัดส่งครูอื่นมาสอนแทน  เมื่อคุณครูมาสายจนผิดสังเกต  เราก็ตกลงกันให้พวกเราคนหนึ่ง จะเป็นใครจำไม่ได้เสียแล้ว จัดหากางเกงฝรั่งสีขาวชนิดที่คุณครูแต่งตัวมาสอนมาสวม (เวลาเรียนพวกเรานุ่งผ้าพื้นสีน้ำเงิน) แล้วทำยืนโก้งโค้งหันหลังให้ พอเสมียนเหงี่ยมผ่านมาตรวจ เห็นคนนุ่งกางเกงขาวโก้งโค้งอยู่ ก็เข้าใจว่าคงเป็นคุณครูแน่ ก็เดินเลยไป เป็นอันว่าชั่วโมงนั้นพวกเราฟรีกันไป 1 ชั่วโมง

เมื่อคุณครูดี ๆ เช่นนี้ต้องจากไปโดยไม่มีวันกลับ ทำให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายรู้สึกสลดใจและมีความเสียดายเป็นอันมาก”

หลวงศรีราชบุรุษ – กรมที่ดิน

รวบรวมโดย : โดโลเรส ณ วันที่ 15 ส.ค. 2555

 

ป้ายกำกับ:

5 responses to “อำมาตย์ตรี หลวงวิเทศวิทยานุศาสตร์

  1. Will Milhuisen

    03/05/2014 at 6:36 pm

    ขอบคุณมากครับ ได้รู้ประวัติคุณตาสักที ^^

     
    • Naitontuayong

      03/05/2014 at 10:38 pm

      คุณ Will ติดต่อไล่เรียงประวัติกันบ้างนะครับ จะได้รู้จักกันไว้ครับ

       
  2. E. Milhuisen

    30/04/2015 at 12:28 am

    Reginald James Milhuisen was a great-uncle of mine. I would like to know about his life in Thailand but unfortunately I can’t read Thai.

    His family tree can be found here:
    http://wc.rootsweb.ancestry.com/cgi-bin/igm.cgi?op=GET&db=milh&id=I17

     
    • N.M. Wited-Saito

      15/07/2017 at 8:49 pm

      How can I contact you Mr. E.Milhuisen?

       
    • Pusitra (Dolores)

      13/04/2018 at 3:23 pm

      Dear Mr. E. Milhuisen,
      So excited to hear from you. Reginald James Milhuisen was my Grandfather. I’ve tried to gather all infor as much as possible on website. Pls, I would really appreciated if you could send the feedback to my email : pusitra13@gmail.com so that we can connect to each other.

       

ส่งความเห็นที่ Pusitra (Dolores) ยกเลิกการตอบ